วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ที่มาของงานจดคำบรรยาย

หน่วยจดคำบรรยาย
หน่วยจดคำบรรยาย



ความสำคัญและที่มา

วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดดำเนินการจัดการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษา สำหรับนักศึกษาพิการทางการได้ยิน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2546 เป็นต้นมา ซึ่งถือได้ว่าเป็นสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทยที่มีการจัดการเรียนการสอนสำหรับคนพิการทางการได้ยิน

โดยในปีการศึกษา 2552 วิทยาลัยราชสุดาเปิดการเรียนการสอนหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาหูหนวกศึกษา รุ่นที่ 3

ประกอบด้วยการเรียนการสอนในแขนงวิชาเอกทั้งสิ้น 5 แขนงวิชา ได้แก่

1) แขนงวิชาเอกประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมคนหูหนวก

2) แขนงวิชาเอกภาษามือไทย

3) แขนงวิชาเอกล่ามภาษามือ

4) แขนงวิชาเอกเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา

5) แขนงวิชาเอกศิลปกรรมประยุกต์ด้านเครื่องดินเผา

คนพิการทางการได้ยินมีวัฒนธรรมของการสื่อสารระหว่างกันโดยใช้ภาษามือไทย (Thai Sign Language) เป็นภาษาที่หนึ่ง และใช้ภาษาไทยเป็นภาษาที่สองในการสื่อสาร การสื่อสารด้วยภาษามือไทยนั้น จำเป็นต้องใช้สายตาเป็นช่องทางหลักในการรับรู้และตอบโต้ระหว่างกัน ด้วยเหตุนี้ การเรียนการสอนในชั้นเรียนของคนพิการทางการได้ยินจึงแตกต่างจากการเรียนการสอนของคนทั่วไป โดยจะต้องได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติม คือ

1) ผู้จดคำบรรยาย (Note taker)

ทำหน้าที่บันทึกเนื้อหาการเรียนการสอนแทนนักศึกษาที่ต้องใช้สายตาในการดูการแสดงท่าภาษามือ จนไม่สามารถที่จะจดบันทึกเนื้อหาที่ครูผู้สอนถ่ายทอดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2) ล่ามภาษามือไทย (Sign Language Translator)

ทำหน้าที่สื่อสารระหว่างอาจารย์ผู้สอนที่สื่อสารโดยใช้ภาษาไทย กับผู้เรียนที่เป็นนักศึกษาพิการทางการได้ยินที่ใช้ภาษามือ

3) ผู้บันทึกภาพวีดิทัศน์การเรียนการสอน

ทำหน้าที่บันทึกภาพเคลื่อนไหวการจัดการเรียนการสอนชั้นเรียน เพื่อให้นักศึกษาพิการทางการได้ยินใช้ดูทบทวนเนื้อหาบทเรียนบางส่วนที่อาจหลงลืม เนื่องจากไม่มีโอกาสได้บันทึกเนื้อหาบทเรียนระหว่างการเรียนในชั้นเรียน

การดำเนินการทั้งสามประการดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนให้นักศึกษาพิการทางการได้ยิน สามารถเรียนรู้เนื้อหารายวิชาต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความใกล้เคียงกับการเรียนการสอนของนักศึกษาทั่วไปที่มีการได้ยิน มากยิ่งขึ้น

หน่วยจดคำบรรยาย วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล มีบทบาทหน้าที่ในการจดบันทึกคำบรรยายเนื้อหารายวิชาต่างๆ ในการเรียนการสอนของนักศึกษาพิการทางการได้ยิน หลักสูตรสาขาวิชาหูหนวกศึกษา โดยนักศึกษาสามารถนำเอกสารดังกล่าวมาใช้เพื่อทบทวนบทเรียนที่ตนเองเรียนในชั้นเรียนได้

กระบวนการจัดทำเอกสารคำบรรยาย สามารถแบ่งออกเป็นขั้นตอนหลัก ได้แก่

1) การจดคำบรรยายในชั้นเรียน

2) การตรวจสอบปรับปรุงเนื้อหาในเอกสารจดคำบรรยายโดยอาจารย์ผู้สอน

3) การจัดส่งเอกสารจดคำบรรยายให้กับนักศึกษาพิการทางการได้ยิน

ในปีการศึกษา 2553 คณะกรรมการบริหารหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาหูหนวกศึกษา ได้กำหนดให้มีการเปิดการเรียนการสอนหลักสูตรแขนงวิชาเอกเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา ขึ้นเป็นปีการศึกษาแรก และมีนักศึกษาเข้าเรียนในแขนงวิชาดังกล่าว จำนวนทั้งสิ้น 23 คน

 

ผู้เรียบเรียงข้อมูล นางสาวสุภาวดี มั่นใจ

ที่ปรึกษา ดร.ปรเมศวร์ บุญยืน

 หน่วยจดคำบรรยาย



วันพุธที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ทำความรู้จักกับหน่วยจดคำบรรยาย

หน่วยจดคำบรรยาย งานกิจการนักศึกษาและบริการนักศึกษา
ให้การสนับสนุนแก่นักศึกษาพิการหูหนวก
ภายในวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล
ในรายวิชาที่มีนักศึกษาพิการหูหนวกเข้าเรียน
ทำหน้าที่จดใจความสำคัญที่อาจารย์ผู้สอนสอนในห้องเรียน
เพื่อให้นักศึกษาได้นำกลับไปทบทวนบทเรียนที่เรียนผ่านไปแล้ว

ยินดีต้อนรับ

กราบสวัสดี พ่อแม่พี่น้องที่รักทุกท่านที่ให้ความเอื้อเฟื้อในการเข้าชม Blogger