วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

การฟัง


การฟัง

1. ความหมายของการฟัง

การฟัง คือ การรับรู้ความหมายจากเสียงที่ได้ยิน เป็นการรับสารทางหู การได้ยินเป็นการเริ่มต้นของการฟังและเป็นเพียงการกระทบกันของเสียงกับประสาทตามปกติ จึงเป็นการใช้ความสามารถทางร่างกายโดยตรง ส่วนการฟังเป็นกระบวนการทำงานของสมองอีกหลายขั้นตอนต่อเนื่องจากการได้ยินเป็นความสามารถที่จะได้รับรู้สิ่งที่ได้ยิน ตีความและจับความสิ่งที่รับรู้นั้นเข้าใจและจดจำไว้ ซึ่งเป็นความสามารถทางสติปัญญา

2. จุดมุ่งหมายของการฟัง

เวลาเราฟังเรามักไม่ทันคิดว่า เราฟังเพื่อความมุ่งหมายอะไรแต่เรารู้ว่า เมื่อเราไปฟังดนตรี เราฟังเพื่อความเพลิดเพลินและความสุขใจเป็นสำคัญ เมื่อไปฟังปาฐกถาเราอาจฟังเพื่อให้ได้รับความรู้และได้รับความเพลิดเพลินด้วย แต่ถึงกระนั้นก็ดีหากเรากำหนดจุดมุ่งหมายในการฟังแต่ละครั้งแต่ละเรื่องไว้ก็จะทำให้เราตั้งใจฟังทำให้เกิดความเข้าใจเนื้อหาสาระของเรื่องที่ฟังและได้รับประโยชน์จากการฟังอย่างเต็มที่ เราพอจะแบ่งจุดมุ่งหมายของการฟังออกได้ดังนี้

1) การฟังเพื่อติดต่อสื่อสารในชีวิตประจำวัน

2) การฟังเพื่อความเพลิดเพลิน

3) การฟังเพื่อรับความรู้

4) การฟังเพื่อได้คติชีวิตและความจรรโลงใจ

3. ประโยชน์ของการฟัง สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประการใหญ่ ๆ ดังนี้

ประโยชน์ต่อตนเอง
               1) การฟังที่ดีเป็นพฤติกรรมของผู้มีมารยาทในการเข้าสังคม ในวงสนทนาหรือในสถานที่และโอกาสต่างๆ ไม่มีผู้พูดคนใดที่ชอบให้คนอื่นแย่งพูดหรือไม่ยอมฟังคำพูดของตนเอง การฟังจึงเป็นพฤติกรรมที่ช่วยสร้างบรรยากาศของความเป็นมิตรทำให้เกิดความเข้าใจ การยอมรับและความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน
                
                2) การฟังที่ดีทำให้เราได้รู้เรื่องราวที่ฟังโดยตลอด สามารถเข้าใจข้อความสำคัญของเรื่องที่ฟังและจุดมุ่งหมายของผู้พูด
     
                3) การฟังที่ดีช่วยสามารถพัฒนาสมรรถภาพการใช้ภาษา ในทักษะด้านอื่น ๆ กล่าวคือการฟังช่วยให้ผู้ฟังเรียนรู้กระบวนการพูดที่ดีของคนอื่น นับตั้งแต่การเลือกหัวข้อหรือประเด็นในการพูด การปรับปรุงบุคลิกภาพในการพูด และวิธีการเสนอสารที่มีประสิทธิผล
       
                4) การฟังที่ดีเป็นพื้นฐานที่ทำให้เกิดสมรรถภาพทางความคิด ผู้ฟังได้พัฒนาพื้นฐานความรู้ และสติปัญญาจากการรวบรวมข้อมูลและข้อคิดต่างๆ จากการฟัง

                5) การฟังที่ดีทำให้เราได้เพิ่มศัพท์ และเพิ่มพูนการใช้ถ้อยคำภาษาได้อย่างรัดกุมและเหมาะสม ผู้ฟังจะสังเกตการใช้ศัพท์และถ้อยคำของผู้พูด ศึกษาวิธีการใช้ถ้อยคำหรือสำนวนโวหารจากผู้พูดแล้วจดจำ ไปเป็นแบบอย่างในการพูดและการเขียน

ประโยชน์ต่อสังคม
             
               การฟังที่ดีเป็นกระบวนการสื่อสารที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติในแง่ที่ผู้ฟังนำความรู้แง่คิดต่างๆไปใช้ โดยผู้ฟังเองได้รับผลดีจากการปฏิบัติ และสังคมได้ประโยชน์ทางอ้อม ตัวอย่างเช่น การฟังการอภิปรายเรื่อง การรักษาสุขภาพ ส่วนบุคคล ผู้ฟังได้รับความรู้แนวคิดต่างๆ ในการรักษาสุขภาพจากการฟัง ถ้าผู้ฟังนำไปปฏิบัติตาม ผู้ฟังย่อมมีสุขภาพ พลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์ในขณะเดียวกันสังคมนั้นจะมีสมาชิกของสังคมที่มีสุขภาพที่แข็งแรง สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4. หลักการฟัง การฟังที่ดีมีหลักสำคัญในการฟังดังนี้

1) ฟังให้ตรงความหมาย

2) ฟังเพื่อจับใจความสำคัญ

3) ฟังเพื่อหาข้อโต้แย้ง หรือคล้อยตาม

4) ฟังเพื่อความรู้

ในการฟังแต่ละครั้ง อาจมีจุดมุ่งหมายในการฟังสองหรือสามประการในการฟังแต่ละครั้งดังนั้น เราจะสังเกตเห็นในการฟังแต่ละครั้งนั้น บางทีเราฟังการอภิปรายเราต้องใช้เหตุผลในการฟังคือเราต้องใช้การฟังเพื่อหาข้อโต้แย้งหรือคล้อยตามหรือการฟังสารเพื่อความจรรโลงใจเราต้องใช้เหตุผลในการฟังแตกต่างกันออกไป

5. ขั้นตอนของการฟัง มนุษย์มีกระบวนการฟัง 6 ขั้น คือ

1) ขั้นได้ยิน

2) ขั้นแยก

3) ขั้นยอมรับ

4) ขั้นตีความ

5) ขั้นเข้าใจ

6) ขั้นเชื่อ เป็นขั้นที่อยู่กับความสามารถของผู้ฟัง ที่จะตัดสินว่าประโยคหรือสิ่งที่ฟังมานั้นมีความจริงเพียงใด เชื่อถือได้เพียงใด และยอมรับได้หรือไม่ คนเรามีประสิทธิภาพในการฟังเมื่อมีกระบวนการฟังครบทุกตอน แต่กระบวนการฟังของคนเรามีไม่เท่ากัน บางคนมีกระบวนการฟังเพียงขั้นเดียว บางคนมีกระบวนการฟังถึงขั้นที่ห้านอกจากนี้อาจอธิบายได้อีกแง่หนึ่งว่า การฟังสารที่มีประสิทธิภาพตลอดจนได้รับประสิทธิผลจากการฟังเป็นอย่างดี ผู้ฟังฟังอย่างเข้าใจฟังแล้วจับประเด็นของเรื่องได้ ตีความสารได้ประเมินค่าสารได้ เป็นต้น

6. ลักษณะการฟังที่มีประสิทธิภาพ

1) ฟังด้วยความสนใจ ไม่ว่าเรื่องที่ฟังจะเป็นเรื่องยาก สลับซับซ้อนอย่างไรก็ตาม

2) ฟังผู้พูดทุกคน โดยไม่เลือกว่าผู้พูดคนนั้นเป็นคนพูดดี หรือพูดเก่ง ให้เข้าใจความหมายที่ผู้พูดสื่อสารออกมา

3) ฟังโดยจับใจความ เรื่องที่ฟัง รู้ความหมายของคำพูด และความหมายที่ผู้พูดแสดงออกมาทางอากัปกิริยา ท่าทาง สีหน้าหรือนัยน์ตา

4) ฟังด้วยความอดทน

5) ฟังโดยสังเกตอย่างถี่ถ้วน

6) ฟังโดยไม่คิดตอบโต้ ในขณะที่ฟัง ผู้ฟังต้องฟังอย่างมีสมาธิ

7) ฟังโดยการไม่ถือการเล่น สำนวนเป็นใหญ่

8) ฟังโดยไม่ขัดคอ

9) ฟังเพื่อพยายามหาข้อตกลงร่วมกับผู้พูด

10) ฟังโดยทำความเข้าใจให้ตรงกันกับผู้พูด ฟังด้วยจิตว่าง ปราศจากอคติต่อผู้พูด ฟังอย่างเข้าซึ้งถึงจิตผู้พูดและพยายามเข้าใจสารของผู้พูดอย่างชัดเจน

7. ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการฟัง ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่อไปนี้

1) ผู้พูดมีความสามารถในการพูดได้อย่างมีประสิทธิผล

2) ผู้ฟังมีความศรัทธาต่อผู้พูด

3) ผู้ฟังเชื่อมั่นว่าการฟังเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้เกิดการเรียนรู้

4) ผู้ฟังไม่เป็นคนใจลอยหรือมีจิตใจฟุ้งซ่านในขณะที่ฟัง

5) ผู้ฟังที่เป็นชายฟังได้ดีกว่าผู้ฟังที่เป็นหญิง

6) สถานที่ฟังโปร่ง อากาศถ่ายเทได้ดีและมีอุณหภูมิพอเหมาะสม ไม่ร้อนหรือเย็นมากเกินไป

7) ผู้ฟังใช้ภาษาเดียวกับผู้พูดผู้ฟังจึงสามารถเข้าใจถ้อยคำภาษาของผู้พูดได้ดี

8) ผู้ฟังสำเร็จการศึกษาระดับมัธยม และเคยฝึกฝนการพูดในโรงเรียนมาบ้างแล้ว

9) ผู้ฟังมีประสบการณ์ในการฟังคำอธิบายเรื่องที่มีเนื้อหายากมาบ้างแล้ว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเราจะมีลักษณะการฟังดังกล่าวแล้วก็ตาม สิ่งที่สำคัญคือ เราต้องมีความเชื่อมั่นว่าเราต้องปรับปรุงสมรรถภาพ การฟังอยู่เสมอ โดยสังเกตข้อบกพร่องในการฟังด้วย และต้องแก้ไขปรับปรุงการฟังทุก ๆ ครั้ง
 
อ้างอิงข้อมูลจาก  :  เอกสารประกอบการจัดการเรียนรู้ รายวิชา ท๓๐๑๐๔ พัฒนาทักษะการใช้ภาษา
                        http://www.sahavicha.com/?name=media&file=readmedia&id=871

วันอังคารที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ทำไมถึงต้องมีผู้จดคำบรรยายในห้องเรียน




ผู้จดคำบรรยาย    จดเนื้อหาสำคัญๆ ที่อาจารย์บรรยายออกมาเป็นเอกสาร เน้นส่วนสำคัญของเนื้อหา
                        สิ่งที่อาจารย์เขียนไว้บนกระดาน






วันพุธที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งที่เตรียมความพร้อมในการเป็นครู อยู่เพื่อรู้ ดูเพื่อเห็น ทำให้เป็น


แบบแปลนพื้นที่การจัดทำสวน



บรรยากาศห้องเรียน ปีการศึกษา2554


      สวัสดีจ้าสำหรับคนที่หลงเข้ามาอ่าน   วันนี้ได้นำความรู้ที่หาจากในในอินเตอร์เน็ต 
วิธีการจดเลคเชอร์แบบมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์หรือ“Cornell Note Taking Method” 

เรื่อง  การจดเลคเชอร์แบบ Cornell
ผู้เขียน  อาจารย์ประสาท มีแต้ม  คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์



 คุณรู้ไหม คนเราสามารถคิดได้เร็วกว่าที่อาจารย์พูดถึงสี่เท่าตัว        ดังนั้น เราสามารถฟังและจดโน้ตดี ๆ ได้

1. คำนำ
                ในแต่ละปีผมพบว่า นักศึกษาชั้นปีที่หนึ่ง (ซึ่งยังสด ๆ และมองชีวิตในมหาวิทยาลัยแบบสดใสอยู่) จำนวนมากใช้วิธีจดเลคเชอร์ของแต่ละวิชาลงในสมุดเล่มเดียวกัน เมื่อสอบถามได้ความว่า ค่อยไปลอกและทั้งปรับปรุงแก้ไขลงในสมุดของแต่ละวิชาในภายหลัง ผมได้ตั้งคำถามเชิงแนะนำนักศึกษาไปว่า
มันจะเป็นการเสียเวลาเกินความจำเป็นไปไหม? ทำไมไม่ลองอีกวิธีหนึ่งซึ่งเปิดโอกาสให้เราสามารถปรับปรุงเนื้อหาได้ดีกว่าโดยไม่ต้องลอกใหม่และเสียเวลาน้อยกว่า
               วิธีที่ว่านี้คือ วิธีการจดเลคเชอร์แบบมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ (Cornell Note Taking Method) ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ของบทความนี้ แต่ก่อนที่จะกล่าวถึงอย่างชนิดที่สามารถนำไปปฏิบัติใช้งานได้ ผมขออนุญาตชี้ให้เห็นปัญหาของการจดเล็คเชอร์ของนักศึกษาไทยก่อน

2. ปัญหาการจดเลคเชอร์
              

           ผมเองเรียนและสอนทางสาขาคณิตศาสตร์ซึ่งเป็นสาขาที่มีปัญหาในการจดเลคเชอร์น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับสาขาอื่น ๆ เพราะอาจารย์คณิตศาสตร์ (ทั่วโลก)จะเขียนเกือบทุกตัวอักษรลงบนกระดานในขณะที่สาขาอื่น ๆ อาจารย์นิยมพูดเป็นส่วนใหญ่ ในการสอนวิชาคณิตศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เป็นนิยาม ทฤษฎีบท หากเนื้อหาผิดพลาดไปแม้เพียงคำเดียวก็จะกลายเป็นความผิดพลาดที่ไม่อาจยอมรับกันได้ อาจารย์จึงต้องเขียนทุกคำบนกระดาน นอกจากนี้ในระหว่างการ ทำโจทย์ ยังต้องการแสดงให้เห็นถึงวิธีการคิด วิธีการทำอีกต่างหาก
                   อย่างไรก็ตาม ในวิชาที่ผมสอนเอง บางครั้งมีบางเนื้อหาที่ไม่จำเป็นต้องจดลงบนกระดาน เช่น การเปรียบเทียบว่าวิธีที่หนึ่งดีกว่าวิธีที่สองอย่างไร นักศึกษาก็จดบันทึกไม่ถูก หรือไม่จดเลย เป็นต้น


 
        ผมถามอาจารย์รุ่นใหม่ว่า เคยมีการสอนวิธีการจดเลคเชอร์ในช่วงที่คุณเป็นนักศึกษาบ้างไหม
              คำตอบที่ได้คือไม่มีครับ หากใครจดเลคเชอร์ได้ดีก็เป็นเพราะความสามารถเฉพาะตัว ไม่ใช่เพราะโดยการเรียนการสอนจากสถาบันการศึกษาผมเองก็ไม่เคยเรียนเรื่องเทคนิคการจดเลคเชอร์มาก่อนเช่นเดียวกัน เพิ่งจะได้เรียนรู้ก็ตอนที่โลกเรามีอินเตอร์เนตใช้นี่เอง ขอบคุณอินเตอร์เนตที่เปิดโอกาสให้เราได้ ท่องโลก เพื่อการเรียนรู้และนำมาถ่ายทอดต่อในที่นี้
              อนึ่ง การที่เราจะจดเลคเชอร์ได้ดีหรือไม่ นอกจากจะต้องมีเทคนิควิธีการที่จะกล่าวถึงแล้ว ยังขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการฟัง การมีสมาธิและการจับประเด็น ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และใหญ่มาก ๆ สำหรับสังคมนักศึกษาไทยเราในวันนี้ รวมทั้งในสังคมของผู้ใหญ่ด้วย

นักศึกษาบางคนไม่ยอมจดเลคเชอร์ โดยอ้างว่า
              ต้องการฟังให้ได้มากที่สุดและทำความเข้าใจเนื้อหาไปเลย แล้วค่อยขอยืมของเพื่อนไปถ่ายเอกสาร
เรื่องนี้นักการศึกษาบางคนถึงกับเตือนว่า
              การจดเลคเชอร์และการทำโน้ตย่อขณะอ่านหนังสือ ไม่ใช่เป็นกิจกรรมที่เราชอบแล้วจึงลงมือทำ แต่เป็น     กิจกรรมที่ต้องทำ
 
                  การจดเล็คเชอร์เป็นการบังคับตัวเราเองให้ฟังอย่างตั้งใจ ไม่เผลอหลับเพราะมีการเคลื่อนไหวทั้งมือและสมอง เมื่อกลับไปเปิดเลคเชอร์โน้ตในภายหลัง เราจะพบว่ามันคือเข็มทิศที่นำเราไปสู่การค้นคว้าเพิ่มเติมจากตำราต่อไป นอกจากนี้ โน้ตของเราจะทำให้จำได้ง่ายกว่าตำรา
                   โดยสรุป
                 การจดเลคเชอร์เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนักเรียนและนักศึกษาทุกคน แต่จะทำอย่างไรให้ได้ดี คำตอบคือต้องฝึกหัดเหมือนกับที่เราหัดเดินตอนเป็นทารก การจดเลคเชอร์ที่ดีจะส่งผลให้การเรียนของเราดีและได้เกรดดีขึ้น ต่อไปนี้เป็นคำแนะนำที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง

3. การจดเล็คเชอร์แบบมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์
                   วิธีนี้ได้คิดค้นโดย Dr. Walter Pauk  ผู้ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ทางการศึกษาของมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์และได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์การอ่านและการศึกษา(Cornell University's reading and study center)ของมหาวิทยาลัย
                   เป็นผู้ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งในสาขาพัฒนาการศึกษาและทักษะการเรียนรู้ และเป็นผู้เขียนหนังสือชื่อ How To Study In College ซึ่งเป็นหนังสือที่ถูกจัดเป็นประเภทที่ขายดีที่สุด มหาวิทยาลัยที่ผมทำงานอยู่และคิดว่ารวมถึงมหาวิทยาลัยแห่งอื่นด้วย ไม่มี ศูนย์หรือ สถาบัน ในลักษณะที่ช่วยพัฒนานักศึกษาเช่นนี้ แต่มีศูนย์ทางด้านธุรกิจและอื่น ๆ มากมาย
                  วิธีการจดเลคเชอร์ มีหลายวิธี แต่ Wikepedia จัดว่าวิธีที่จะกล่าวถึงนี้เป็นวิธีที่มีการใช้กันแพร่หลายมาก โดยมี วิธีการดังต่อไปนี้

ขั้นที่ 1 การจัดแบ่งหน้ากระดาษ
                 ให้แบ่งหน้ากระดาษออกเป็น 2 คอลัมน์
                       ถ้าเป็นกระดาษขนาด A4 (ขนาด 8.5x11 นิ้ว)
                       คอลัมน์ซ้ายมือกว้าง 2 นิ้วครึ่ง
                      ส่วนที่เหลือเป็นคอลัมน์ขวามือกว้างประมาณ 6 นิ้ว
                      ถ้าเป็นกระดาษสมุดก็ปรับตามความเหมาะสม
                      แต่คอลัมน์ทางซ้ายมือไม่ควรจะกว้างน้อยกว่า2.25 นิ้ว
                      เพราะจะต้องใช้พื้นที่ส่วนนี้เขียนข้อความสำคัญในภายหลัง
                      เว้นด้านล่างของกระดาษไว้ประมาณ 2 นิ้ว ไว้สำหรับเขียนสรุปหลังจากได้ทบทวนแล้ว ดังรูป




                              






หมายเหตุ   คำว่า Cue ในที่นี้ หมายถึง สัญญาณหรือคำที่ช่วยเตือนความจำ ช่วยให้เราทำกิจกรรมอื่น
                  ต่อไป ภาพข้างล่างนี้จะช่วยขยายความถึงการใช้หน้ากระดาษ (ซึ่งจะอธิบายต่อไป)

รูปที่ 2







ขั้นที่ 2คำแนะนำทั่วไป
                      ถ้าใช้กระดาษขนาด A4 ควรเขียน วันที่ รายวิชา และเลขหน้าไว้บนหัวกระดาษ
      เพราะเหมาะสำหรับการนำไปรวมกันเป็นแฟ้มของแต่ละวิชาได้สะดวก เช่น 2 มิ.. 53 คณิตศาสตร์ 101 หน้า 1
                 
                  นักศึกษาควรเข้าห้องเรียนก่อนเวลาเล็กน้อย เพราะโดยปกติ ในช่วง 5นาทีแรกอาจารย์มักจะแนะนำ  
สาระสำคัญของเนื้อหาที่จะบรรยายในคาบนี้ รวมทั้งความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับเนื้อหาเดิม การที่เราได้รับทราบแนวของเนื้อหาก่อนจะทำให้เราสามารถเข้าใจสิ่งที่จะได้ฟังง่ายขึ้น
                    ควรอ่านเอกสารล่วงหน้า (ถ้าเป็นไปได้) และ
                    ควรมีปากกาและดินสอหลายสี หากสามารถพกกล่องปากกาติดตัวได้ก็ยิ่งเป็นการดี   นักศึกษาชายใส่ในย่าม นักศึกษาหญิงใส่ที่เดียวกับเครื่องสำอาง(!)

ขั้นที่ 3 การฟังและจดเลคเชอร์
- จดเนื้อหาสำคัญลงในคอลัมน์ขวามือ (Note Taking Area) ในชั่วโมงบรรยาย
- อย่าจดทุกคำ เลือกเฉพาะที่ประเด็นสำคัญ พร้อมเหตุผลสนับสนุน ถ้าจดละเอียดมากเกินไปจะทำให้เป็นนักฟังแย่ลงและจดไม่ทัน
- อย่าเขียนให้เป็นประโยค ถ้าสามารถใช้วลีได้ และอย่าเขียนเป็นวลี ถ้าสามารถเขียนเป็นคำเดียวโดด ๆ ได้
- พยายามใช้ตัวย่อ สัญลักษณ์ ลูกศร เช่น ใช้ “&”แทน และ”, "~" แทน "ประมาณ"
- หากจับประเด็นไม่ได้หรือจับไม่ทัน ควรเว้นกระดาษพร้อมทำเครื่องหมาย ?เพื่อถามเพื่อนหรือค้นเพิ่มเติมภายหลัง อย่าเสียดายกระดาษ ความรู้มีค่ามากกว่ากระดาษ
- พยายามตั้งใจฟังประโยคสำคัญ ๆ เช่น เรื่องนี้มีเหตุผล 3ประการคือหรือฟังการย้ำ การเน้นเสียงของอาจารย์

ขั้นที่ 4 การทบทวนและทำให้เลคเชอร์โน้ตกระชับ
- หลังจากจดเลคเชอร์มาแล้ว (เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้) ให้อ่านที่จดมาได้ ไม่ใช่ศึกษาเพื่อทำความเข้าใจ แต่เพื่อตรวจสอบความถูกต้องกับตำรา ถ้าพบที่ผิดก็แก้ไข ปรับปรุง
- ทบทวนและทำเนื้อหาให้กระชับและสั้นลง โดยเขียน
                    ประเด็นสำคัญ (Main ideas) คำถาม
                    แผนผัง
                    สัญญาณเตือนความจำลงในคอลัมน์ซ้ายมือ (Cue Column)
                    เขียนเมื่อได้ทบทวนเนื้อหาแล้ว ถ้าสามารถทบทวนได้ภายใน 24 - 48 ชั่วโมงหลังจากการฟังคำบรรยาย เรายังคงจำเนื้อเรื่องได้ถึง 80%ถ้าเลยเวลานี้ไปเราจะลืมไปแล้ว 80% นั่นหมายความว่าเราต้องเสียเวลาเรียนใหม่เกือบทั้งหมด
- เขียนเฉพาะคำสำคัญ หรือวลี เพื่อสรุปประเด็นสำคัญ เขียนคำถามที่คาดว่าน่าจะเป็นข้อสอบ
ขั้นที่ 5 เขียนสรุปลงในส่วนที่สาม
                สรุปเนื้อหาสัก 1- 2 ประโยคด้วยภาษาของเราเองลงในส่วนที่ 3 ของกระดาษ โดยเขียนหลังจากที่เราได้ทบทวนและทำความเข้าใจบทเรียนแล้ว

4. สรุป ข้างล่างนี้คือตัวอย่างหนึ่งที่ได้ทำครบถ้วนทุกขั้นตอนแล้ว อาจจะช่วยให้เราเข้าใจดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคอลัมน์แรก อย่างไรก็ตาม ถ้าเราไม่เริ่มต้นลงมือทำ เราก็ไม่มีวันที่จะเป็น ทุกอย่างต้องมีการฝึกฝนครับ







ที่มา:
การจดเลคเชอร์แบบ Cornell โดย อาจารย์ประสาท มีแต้ม จาก บล็อกประชาไท
Cornell Notes from Wikipedia (http://en.wikipedia.org/wiki/Cornell_Notes)
http://www.bellmore-merrick.k12.ny.us/calhoun/departments/science.html